วันศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)
เป็นบุตรครูสิน ศิลปบรรเลง ซึ่งเป็นศิษย์ของพระประดิษฐ์ไพเราะ เป็นคนจังหวัด สมุทรสงคราม มีฝีมือในการตีระนาดที่หาตัวจับยาก จึงมีชื่อเสียงโด่งดัง ครั้นได้ตีระนาดถวายสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธ์ ก็ได้รับรางวัลมากมาย และได้ประทานตำแหน่งเป็น "จางวางมหาดเล็กในพระองค์" คนทั่วไปจึงเรียกว่า "จางวางศร"
นอกจากระนาดแล้ว ท่านยังสามารถบรรเลงปี่ได้ดี และสามารถคิดหาวิธีเป่าปี่ให้ เสียงสูงขึ้นกว่าเดิมได้อีก 2 เสียง
ในด้านการแต่งเพลง ท่านสามารถแต่งเพลงได้เร็ว และมีลูกเล่นแพรวพราว แม้ในการประกวดการประดิษฐ์ทางรับ คือการนำเพลงที่ไม่เคยรู้จักมาร้องให้ ปี่พาทย์รับ ท่านก็สามารถนำวงรอดได้ทุกครา
ผลงานเด่นๆ ของท่านมีมากมาย ได้แก่
-
ประดิษฐ์วิธีบรรเลงดนตรี "ทางกรอ" ขึ้นใหม่ในเพลง"เขมรเรียบพระนครสามชั้น"    เป็นผลให้ได้รับพระราชทานเหรียญรุจิทอง ร.5 และ ร.6
-
ต้นตำรับเพลงทางเปลี่ยน คือ เพลงเดียวกันแต่บรรเลงไม่ซ้ำกันในแต่ละเที่ยว
-
พระอาจารย์สอนดนตรีแด่พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จนทรงมีพระปรีชาสามารถ  พระราชนิพนธ์เพลงได้เอง คือเพลง "คลื่นกระทบฝั่งโหมโรง"   "เขมรละออองค์เถา" และ "ราตรีประดับดาวเถา"
-
คิดโน๊ตตัวเลขสำหรับเครื่องดนตรีไทยซึ่งได้ใช้มาจนทุกวันนี้
-
นำเครื่องดนตรีชวาคือ "อังกะลุง" เข้ามาและได้แก้ไขจนเป็นแบบไทย
-
สอนดนตรีไทยในพระราชสำนักเมืองกัมพูชา และได้นำเพลงเขมรมาทำเป็น   เพลงไทยหลายเพลง
-
ตันตำรับการแต่งเพลงและบรรเลงเพลง 4 ชั้น
ท่านเป็นคีตกวีในสมัยรัชกาลที่ 6 ถึงรัชกาลที่ 7 ซึ่งนับว่าเป็นดวงประทีปทาง ดนตรีไทย ที่ใหญ่ที่สุดในยุคที่ดนตรีไทยเฟื่องฟูที่สุดด้วย
พระประดิษฐ์ไพเราะ (ครูมีแขก)
คีตกวีในสมัยรัชกาลที่ 3 ถึง รัชกาลที่ 5 เป็นคีตกวีคนแรกที่นำเพลง 2 ชั้น มาทำเป็นเพลงสามชั้น มีความสามารถในการแต่งเพลง และฝีมือในทางเป่าปี่ เป็นเยี่ยม โดยเฉพาะเพลงเด่นที่สุดคือ "ทยอยเดี่ยว" บ้างเรียกท่านว่า "เจ้าแห่งเพลงทยอย" ซึ่งหมายถึงเพลงที่มีเทคนิคการบรรเลงและลีลาที่พิสดาร โดยเฉพาะลูกล้อ ลูกขัดต่างๆ
อีกเพลงหนึ่งคือเพลง "เชิดจีน" เป็นเพลงที่ให้อารมณ์สนุกสนาน มีลูกล้อลูกขัด ที่แปลกและพิสดาร ท่านแต่งบรรเลงถวายพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ซึ่งได้รับการโปรดปรานมาก จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น
                               "พระประดิษฐ์ไพเราะ"   
บทเพลงจากการประพันธ์ของท่านคือ เพลงจีนแส อาเฮีย แป๊ะ ชมสวนสวรรค์ การะเวกเล็ก แขกบรเทศ แขกมอญ ขวัญเมือง เทพรัญจวน พระยาโศก จีนขิมเล็ก เชิดในสามชั้น (เดี่ยว) ฯลฯ

พระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์)
"ครูแปลก" เกิดที่หลังวังกรมพระสมมตอมรพันธ์ เป็นศิษย์คนหนึ่งของครูช้อย สุนทรวาทิน ท่านเคยได้บรรเลงเดี่ยวขลุ่ยถวายต่อหน้า สมเด็จพระนางเจ้าวิคทอเรียที่พิพิธภัณฑ์เมืองริมบลีย์ จนถึงกับถูกขอให้ไปเป่าถวายในพระราชวังบัคกิงแฮมต่อด้วย
ครูแปลกเป็นคนติดเหล้าอย่างหนัก แต่ไม่เคยเมาต่อหน้าศิษย์ ได้เป็นครูสอนวงเครื่องสายหญิงของเจ้าดารารัศมี ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ครั้งแรกเป็นขุนประสานดุริยศัพท์ จนได้เป็นพระยาประสานดุริยศัพท์ใน พ.ศ. 2458 ท่านเคยเป่าปี่เพลงทยอยเดี่ยวในพระประดิษฐ์ไพเราะฟัง ถึงกับได้รับคำชมว่า "เก่งไม่มีใครสู้"
นอกจากท่านจะเชี่ยวชาญปี่และขลุ่ยแล้ว ยังเก่งพวกเครื่องหนังด้วย ขนาดสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภานณุพัธุวงศ์วรเดชตรัสชมว่า "ไม่ใช่คนนี่.. ไอ้นี่มันเป็นเทวดา" ท่านเป็นอาจารย์ของศิษย์ชั้นครูมากมาย เช่นพระเพลงไพเราะ หลวงประดิษฐ์ไพเราะ พระยาภูมิเสวิน อาจารย์มนตรี ตราโมท เป็นต้น
ผลงานเพลงที่สำคัญได้แก่ เพลงเขมรปากท่อเถา เขมรราชบุรีสามชั้น ธรณีร้องไห้สามชั้น (ธรณีกันแสง) พม่าห้าท่อนสามชั้น วิเวกเวหาสามชั้น แขกเชิญเจ้าสองชั้น
พระเพลงไพเราะ (โสม สุวาทิต)
ครูโสม เกิดที่ฝั่งธนบุรี เริ่มเรียนระนาดลิเกจากน้าชาย จากนั้นได้เข้าร่วมเป็นนักดนตรีในกองดนตรีของสมเด็จพระบรม (รัชกาลที่ 6) เป็นคนตีระนาดหน้าฉากเวลาละครเปลี่ยนฉาก มีฝีมือในทางระนาดเป็นเยี่ยม ถึงขนาดเคยตีเอาชนะนายชิน ชาวอัพวา ซึ่งเป็นระนาดมือหนึ่งในสมัยนั้นมาแล้ว
นอกจากนั้นยังสามารถตีรับลิเกในเพลงที่ไม่เคยได้ยินมาก่อนได้ด้วย จนพระยาประสานดุริยศัพท์ชมว่า "โสมแกเก่งมาก ครูเองยังจนเลย"
ครั้งหนึ่งเคยได้ตีระนาดเพลงกราวในถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 เมื่อครั้งทรงพระประชวรให้บรรทม ครั้นตื่นพระบรรทมก็ทรงชมว่า "โสม เจ้ายังตีฝีมือไม่ตกเลย" นับว่าการตีปี่พาทย์ประกอบโขนละครในสมัยนั้น (รัชกาลที่ 5-7) ไม่มีใครสู้ครูโสมได้
ท่านได้บรรดาศักดิ์เป็นพระ เมื่อ พ.ศ.2460 และถึงแก่กรรมเพราะซ้อมระนาดหนักจนพักผ่อนไม่เพียงพอ และทานอาหารไม่เป็นเวลาจนเป็นโรคกระเพาะ รวมอายุได้ 49 ปี
ข้อมูลจาก http://www.bs.ac.th/musicthai/page4.html